นวดไทย

  ประวัติการนวดแผนไทย

เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ในสมัยก่อนเรียกกันว่า เวท มีครูถ่ายทอด ส่วนใหญ่จะเป็นสมุนไพรและการรักษา ส่วนนวดไม่ค่อยรุ่งเรืองนัก ในครั้งพุทธกาลศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรือง ภิกษุสมัยนั้นได้นำสมุนไพร การรักษา การนวด มาเผยแพร่ด้วย  ผู้คิดค้นการนวดจริงๆ คือ ท่าน พระฤาษีสมิทธิ  การนวดเผยแพร่เข้ามา โดยผ่านพระภิกษุ ฤาษี ชี ไพร และพราหมณ์ต่างๆ  

เชื่อกันว่า รากฐานการนวดมาจากอินเดีย โดยพราหมณ์ ชื่อหมอชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์ประจำราชวงศ์สักยะ เป็นแพทย์ประจำพระพุทธเจ้าได้นำมารักษาเผยแพร่  เข้ามาในประเทศไทยเมื่อใดนั้น  ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่จากศิลาจารึกก็ทราบได้ว่าในสมัยสุโขทัย ก็มีการนวดสืบทอดกันมาจนถึงสมัยอยุธยาซึ่งมีความเจริญรุ่งเรือง

ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ปี พ.ศ. 1998 มีการสถาปนาการแพทย์แผนไทยอย่างชัดเจน โดยปรากฏในกฎหมายตราสามดวง มีทำเนียบศักดินาของส่วนราชการการแพทย์ มีจัดตั้งกรมหมอนวดโดย แบ่งเป็น ๒ ฝ่าย คือฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย   เจ้ากรมหมอนวดฝ่ายขวา มีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงราโช  เจ้ากรมหมอนวดฝ่ายซ้าย มีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงราชรักษา  และมีตำแหน่งรองลงมา เป็นปลัดกรมหมอนวดฝ่ายขวา(หมอนวดฝ่ายชาย) บรรดาศักดิ์เป็น ขุนภักดีองค์   ส่วนปลัดกรมหมอนวดฝ่ายซ้าย(หมอนวดฝ่ายหญิง) บรรดาศักดิ์เป็นขุนองค์รักษา   และมีตำแหน่งรองๆ ลงไปตามลำดับ คือหมื่น พัน นายพะโรง    กรมหมอนวดถือว่าเป็นกรมขนาดใหญ่ เพราะเจ้ากรมและปลัดมีศักดินามากกว่ากรมอื่นๆ มีตำแหน่งแพทย์ในกรมมากกว่ากรมแพทย์อื่นๆ

ในสมัยพระนารายณ์มหาราช ปี พ.ศ.2230-2231 มีพรรณนาความตอนหนึ่งในหนังสือลาลูแบร์ว่า"ในกรุงสยามนั้นถ้าใครป่วยไข้ลง ก็จะเริ่มให้ยืดเส้นยืดสาย โดยให้ผู้มีความชำนาญในทางนี้ ขึ้นไปแล้วใช้เท้าเหยียบ"

สมัยรัชกาลที่ 2 ปี พ.ศ.2364 มีจารึกภาพนวดไว้ 2 ภาพ ที่วัดราชโอรส

สมัยรัชกาลที่ 3 ปี พ.ศ.2375 ทรงโปรดเกล้าให้จารึกภาพนวดไว้ 60 ภาพ  ฤาษีดัดตน 80 ท่า และคำโคลง ไว้ตามศาลาราย

สมัยรัชกาลที่ 4  พบหลักฐานจากทำเนียบตำแหน่งข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล (สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ) ว่ามีข้าราชการในกรมหมอนวด ดังนี้
พระวรวงค์รักษา จางวาง ศักดินา 800 ไร่
หลวงสัมพาหแพทย์ ปลัดจางวาง ศักดินา 400 ไร่
หลวงสัมพาหภักดี ปลัดจางวาง ศักดินา 400 ไร่
หลวงประสาทวิจิตร เจ้ากรมซ้าย ศักดินา 800 ไร่
หลวงประสิทธิหัตถา เจ้ากรมขวา ศักดินา 800 ไร่
ขุนวาตาพินาศ ปลัดกรมขวา ศักดินา 400 ไร่
ขุนศรีสัมพาห ปลัดกรมซ้าย ศักดินา 400 ไร่

สมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดการนวดมาก เมื่อเสด็จประพาส โปรดให้มีมหาดเล็ก และนางสนม ที่ชำนาญการนวดตามเสด็จ ท่านชอบเดินมาก จึงตั้งชื่อเส้นไว้ คือเส้นทรงประพาส ก็คือกล้ามเนื้อสันหน้าแข้งนั่นเอง ในปี พ.ศ.2413 โปรดให้มีการชำระคัมภีร์แพทย์ และคัมภีร์นวด  พ.ศ.2445 ได้มีการเขียนภาพฤาษีดัดตน ที่วัดกลาง จังหวัดสงขลา 40 ท่า  และมีตำราแผนนวดรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ.2464

สมัยรัชกาลที่ 6 กรมแพทย์หลวงถูกยุบ หมอหลวงต้องออกมาประกอบวิชาชีพส่วนตัว ในปี พ.ศ.2466 ได้โปรดเกล้าให้ตรา พรบ.การแพทย์ด้านสุขภาพฉบับแรกของสยามประเทศ ระบุการนวดอยู่ในนิยามของการประกอบโรคศิลปะ แพทย์แผนโบราณอย่างชัดเจน

สมัยรัชกาลที่ 7  พ.ศ. 2472 มีกฎเสนาบดี ระบุสาขาการนวดในการประกอบโรคศิลปะ  โดยกำหนดให้ต่ออายุทุกๆ 3 ปี  และในปี พ.ศ.2475 ในปีนั้นมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  และได้มีการก่อตั้งสมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทยขึ้น ครั้งแรกที่วัดราชนัดดา โดยแบ่งการเรียนการสอนเป็นชั้นต้น  6 เดือน  และชั้นปลาย 6 เดือน

สมัยรัชกาลที่ 8  ในปี พ.ศ. 2479 โปรดเกล้าให้ตรา พรบ.ควบคุมการประกอบโรคศิลปะโดยยกเลิก พรบ.2466 ไม่ระบุสาขาการนวดในการประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ การนวดจึงไม่มีการควบคุม

สมัยรัชกาลที่ 9  ในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2528 มีการก่อตั้งโครงการฟื้นฟูการนวดไทย เพื่อให้การนวดมีใบประกอบโรคศิลปะ  และในปี พ.ศ. 2541 กระทรวงสาธารณสุข ได้แต่งตั้งกรรมการเพื่อเตรียมการให้การนวดมีใบประกอบโรคศิลปะ    ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2544 รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2544 เรื่องการเพิ่มประเภทการนวดไทยในสาขาแพทย์แผนไทย มีผลบังคับใช้ ในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2544  และในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2545 คณะกรรมการวิชาชีพ สาขาแพทย์แผนไทย ได้ประเมินผู้มีประสบการณ์ด้านการนวดไทย โดยมีผู้ประเมินผ่านรุ่นแรก 81 คน

ปัจจุบัน งานนวดแบ่งตามลักษณะงานเป็น 2 ประเภท

1.นวดเพื่อสุขภาพ  (ใช้บริการได้ตามร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านสปา)  ผู้ที่ทำงานด้านนี้ เรียนนวดไทย 150 ชม. ก็สามารถทำงานได้แล้ว  (ศึกษาเพิ่มเติม จาก พรบ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ 2559)

2.นวดเพื่อรักษา (ใช้บริการรักษาได้ ตาม โรงพยาบาล และคลินิกการแพทย์แผนไทย) ผู้ที่เป็นแพทย์แผนไทย ต้องเรียนนวดไทย 800 ชม. หรือหลักสูตร 2ปี และสอบใบประกอบโรคศิลปะได้ จึงจะสามารถเป็นแพทย์แผนไทยได้  ส่วนผู้ช่วยแพทย์แผนไทย ต้องเรียนนวดไทย 372  ชม หรือ 330 ชม. (ประมาณ 2 เดือน) ก็สามารถทำงานในคลินิก หรือโรงพยาบาลได้   (ศึกษาเพิ่มเติม จาก พรบ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 และแก้ไขเพิ่มเติม)

นวดเพื่อรักษา รักษาโรคอะไรได้บ้าง รักษาโรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อ พังผืด และอีกหลายๆ โรค  โดยไม่ต้องกินยา  จึงไม่มีผลข้างเคียง  ถ้าไม่แน่ใจ สามารถสอบถาม ปรึกษาจากแพทย์ได้